วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Book 2 : ลิลิตพายัพ

ลิลิตพายัพ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว


            ลิลิตพายัพ  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประพันธ์ร่วมกับข้าราชบริพารที่ตามเสด็จอีก 3 คน คือ  หม่อมเจ้าถูกถวิล  สุขสวัสดิ์   พระยาบำเรอรักษ์  และพระยาสุรินทราชานับเป็นหนังสือเล่มเล็กกว่าครึ่ง A4 ขนาด 134 หน้า  ราคาแสนถูกเพียง 14 บาท   ที่แต่งด้วยคำประพันธ์ลิลิต ที่ประกอบไปด้วยร่ายและโคลง   
ลิลิตพายัพ ในที่นี้ แท้ที่จริงก็คือการนำเสอนเรื่องราวมณฑลพายัพของรัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช  เมื่อกล่าวแต่เพียงคำว่า มณฑลพายัพ หลายคนอาจจะไม่รู้จัก  แต่ถ้าบอกว่ามณฑลพายัพก็คือภาคเหนือตอนบน   ทุกคนก็อาจจะร้องอ๋อ  แต่คงมีอีกหลายคงยังสงสัยต่อไปเหตุใดภาพเหนือตอนบนถึงเป็นมณฑลพายัพไปได้   หากลองย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยก็จะพบว่า   ดินแดนของมณฑลพายัพแท้ที่จริงก็คือ ประเทศราชล้านนา ที่สยามเริ่มเข้าแทรกแซงทางการเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2417  แต่ปล่อยให้ปกครองตนเองเป็นอิสระในฐานะประเทศราชเรื่อยมา  ซึ่งการปกครองในช่วงต้นเป็นไปอย่างหละหลวม เพราะอาณาจักรล้านนามีพันธะผูกพันกับสยามเพียงแค่ ถวายเครื่องราชบรรณาการตามกำหนด  ส่งกำลังทัพช่วยเหลือในราชการสงครามยามจำเป็น และ ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาตามกำหนด  ต่อมาเมื่อจักรวรรดินิยมชาติตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษเริ่มขยายอำนาจเข้ามาครอบคลุมภูมิภาคนี้  สยามจึงมีการปรับตัว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองที่มีรูปแบบการปกครองที่ทันสมัยขึ้น คือ  เทศาภิบาล  ซึ่งเทศาภิบาลนับเป็นการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหาราชการออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาค ซึ่งแบ่งเขตการปกครองให้ลดหลั่นกันดังนี้ มณฑล  เมือง (จังหวัด) อำเภอ  ตำบล และหมู่บ้าน 
เมื่อทราบว่าเขียนด้วยร่ายและโคลงอาจทำให้คนหลายคนถอดใจและไม่หยิบขึ้นมาอ่าน  เพราะขยายกลัวกับการเขียนในรูปแบบร้อยกรองเช่นนี้   ประกอบกับเป็นรื่องราวการเสด็จประพาสในครั้งนี้   หลายคนก็อาจจะคาดไปล่วงหน้าว่าเรื่องราวที่ปรากฏนั้นจะเป็นเรื่องหนัก เป็นทางการ และอ่านยาก  แต่ในความเป็นจริง หนังสือเล่มนี้แสนจะสนุกสนาน  และน่าติดตามยิ่ง  เพราะเหมือนกับว่าเราได้นั่งเครื่องย้อนเวลากลับไปในอดีตกว่าร้อยปีที่ผ่านมา  แม้ว่าเรื่องราวที่นำเสนอเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวการเสด็จประพาสมณฑลพายัพของพระองค์ท่าน ในระหว่างเดือนตุลาคม  พ.ศ. 2448  ถึงเดือนมกราคม 2449 
แต่ด้วยความที่บทประพันธ์เรื่องนี้แต่งในทำนองนิราศ  ที่เน้นเรื่องราวการเดินทางไปพร้อมๆ กับการพร่ำรำพันคิดถึงนางอันเป็นที่รักของผู้แต่ง  ท่วงทำนองดังกล่าวช่วยลดความขึงขังและเป็นทางการของเรื่องราวได้เป็นอย่างดี   ขณะเดียวกันก็สร้างความรู้สึกร่วมของผู้อ่านต่อประสบการณ์ที่นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ  เพราะโดยตลอดเรื่องผู้อ่านเฝ้าเอาใจช่วยและรู้สึกสงสารผู้แต่งที่ต้องระทมทุกข์เฝ้าคิดถึงนางอันเป็นที่รักและลูกอ่อนที่ทิ้งอยู่ในพระนคร  ในขณะที่ตนเองต้องตามเสด็จมาในครั้งนี้  เนื่องจากไม่สามารถขัดพระบรมราชโองการได้
ตลอดการเดินทางผู้แต่งถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางที่เป็นไปอย่างยากลำบาก  เนื่องจากในสมัยนั้นทางรถไฟสายเหนือยังสร้างไม่เสร็จ  จึงทำให้ได้เห็นเส้นทางเดินทางสายเก่าที่เวลาจะเดินทางทั้งจากกรุงเทพฯไปยังภาคเหนือ  หรือเดินทางจากภาคเหนือกลับกรุงเทพฯต้องนั่งเรือและแพร่องตามแม่น้ำลงมา  และตลอดเส้นทางในการล่องเรือเต็มไปด้วยเกาะแก่ง และกระแสน้ำอันเชี่ยวกราด  การเดินทางบางช่วงก็เป็นชายหาดตื้นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเดินทางล่าช้าลง   ขณะเดียวกันการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆของภาคเหนือสมัยนั้นยังไม่มีถนนเหมือนในสมัยนี้   จึงจำเป็นต้องอาศัยช้าง ม้า หรือเดินทางเท้าในบางช่วง  เพราะเส้นทางเต็มไปด้วยป่าไม้  แม่น้ำ และภูเขาสลับที่ราบโดยตลอด
ความสามารถของผู้แต่งอีกประการหนึ่ง คือการนำเสนอสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นไว้อย่างละเอียดและมีชีวิตชีวา  ผู้แต่งสเนอให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าดินแดนภาคเหนือเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง  เพราะมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆอาศัศัยปะปนกันอยู่มาตั้งแต่อดีต  ไม่ว่าจะเป็นคนเมือง ชาวสยาม ชาวจีน  ชาวตะวันตกชาติต่างๆ และชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น มูเซอ  กระเหรี่ยง  เงี้ยว ตองสู่ และ อาข่า เป็นต้น  ทั้งยังนำเสนอภาพประเพณีต่างๆ ของชาวเหนือ อาทิ การทำบายศรี  พิธีเรียกพระขวัญ และ การฟ้อนและการแสดงรับเสด็จต่างๆ
 นอกจากนี้  หนังสือเล่มนี้ยังสอดแทรกตำนานพื้นเมืองของสถานที่ๆ เดินทางผ่านไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นตำนานพระธาตุช่อแฮ  จังหวัดแพร่  ตำนานหลักเมือง หรือ ตำนานเสาอินทขีล  จังหวัดเชียงใหม่   ตำนานพระพุทธสิหิงค์  จังหวัดเชียงใหม่   ตำนานพระเจ้าตนหลวง  จังหวัดพะเยา  ประวัติวัดพระยาแมน จังหวัดอุตรดิตถ์  ประวัติเมืองเก่าในกำแพงเพ็ชร์   และประวัติบ้านเกาะหูกวาง อำเภอสถิต นครสวรรค์ 
ด้วยเหตนี้  อาจกล่าวได้ว่าบทประพันธ์เรื่องนี้นับเป็นหนังสือท่องเที่ยวในอีกรูปแบบหนึ่ง  ที่สะท้อนภาพที่เป็นจริงเมืองไทย และภาคเหนือในอดีตในสมัยรัชกาลที่ 5  ได้อย่างมีมีชืวิตชีวาเล่มหนึ่ง  หากผู้อ่านท่านใดที่ประสงค์อยากรู้จักประเทศไทยในอดีตให้มากขึ้น  ก็ไม่ควรพลาดที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้

--------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น