วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Book 1 : อาถรรพ์แห่งพงไพร


รู้จัก "อาถรรพ์แห่งพงไพร" หนึ่งในวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ของลาว

          วรรณกรรมแปลของนักเขียนสตรีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ "อาถรรพ์แห่งพงไพร" ผลงานของ "ดอกเกด" ซึ่งเป็นนามปากกาของนักเขียนเลื่องชื่อนาม ดวงเดือน  บุนยาวง ชื่อของนักเขียนท่านนี้อาจยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากนักสำหรับนักอ่านชาวไทย  แต่เธอเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในหมู่นักอ่านชาวลาว  นอกจากนี้ นวนิยายเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2549 ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย  นวนิยายเรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทยโดย ศรีสุดา  ชมพันธุ์
          "อาถรรพ์แห่งพงไพร" ไม่เพียงแต่นำเสนอเรื่องราวความรักระหว่าง ผัน ครูหนุ่มที่ละทิ้งชีวิตในเมืองสะวัน-นะเขตไปทำงานเป็นครูสอนเด็กชั้นประถมที่หมู่บ้านในหาดโพชนบทอันห่างไกล แม้เหตุผลเริ่มแรกจะป็นเพียงแค่อกหักและต้องการจะหลบหนีจากวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเดิมๆเพื่อให้ลืมคนรัก คือมณีสวรรค์ เท่านั้น แต่เมื่อใช้ชีวิตในชนบทเป็นเวลานานกว่า 2 ปี ก็ทำให้เขาเปลี่ยนความรู้สึกจนกลายเป็นความรักและผูกพันกับที่อยู่และชาวบ้านที่นั้นอย่างมาก จนกลายเป็นอุดมการณ์ที่ทำให้ผันลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเด็กนักเรียนของเขา  โดยผันยอมทำทุกอย่างเพื่อที่จะสร้างโรงเรียนหลังใหม่แทนโรงเรียนหลังเดิมที่ผุผังจนเขาถูกจับติดคุกก็ตาม ขณะเดียวกันโรงเรียนหลังใหม่นี้ก็ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ชักนำให้ผันและมณีสวรรค์ได้มาพบและปรับความเข้าใจกันในที่สุด
          ความงดงามของธรรมชาตินับเป็นฉากที่ผู้เขียนให้ความสำคัญ เพราะโดยตลอดทั้งเรื่องผู้เขี่ยนที่สร้างฉากบรรยายธรรมชาติไว้ในหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นภาพความงดงามและความสงบของฝั่งแม่น้ำที่หาดโพ  ที่ว่า "… ทิวทัศน์สองฝั่งเขียวชื่นตา สลับซับซ้อน มีชีวิตชีวา หมู่บ้านบนฝั่งมีต้นมะพร้าวต้นหมากขึ้นสลอนเหนือหลังคาบ้านเรือนที่ปลูกเรียงกันห่างๆริมฝั่งแม่น้ำกระแสน้ำสีเขียนใสลดลงจนเห็นก้อนหินสีขาว สีแดง สีดำนอนเงียบสงบอยู่บนพื้นน้ำ" (หน้า 14)  นอกจากฉากธรรมชาติแล้ว  ผู้เขียนยังชี้ให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของป่าไม้  และความรู้สึกหวงแหนที่ป่าต้องถูกตัดโค่น  รวมไปถึงความคิดเชิงอนุรักษ์ป่าที่ผู้เขียนแฝงไว้ในคำพูด การกระทำ และความคิดของผัน โดยเฉพาะฉากที่ผันเกิดความรู้สึกหวงแหนและโกรธแค้นที่ไม้กฤษณาถูกโค่น เช่น "…ดูเหมือนป่าดงพงไพรร่ายเวทมนต์คาถาสร้างเสน่ห์ให้ผันหวงแหนหลงใหลมันยิ่งขึ้น ชายหนุ่มรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นที่เห็นซากไม้กฤษณาลำขนาดแขนขาถูกฟันล้มเป็นแถว น้ำตาของลูกผู้ชายคลอเบ้า ขณะที่ต้นไม้กำลังจะล้ม เขารู้สึกว่าหัวใจของตัวเองบีบแน่นคล้ายขาดอากาศหายใจ…" (หน้า 90-91) อีกทั้งผู้เขียนยังเสนอวิถีทางในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยไว้ในเรื่องนี้  โดยพยายามชี้ให้เห็นคุณค่าของป่า โดยอาศัยแนวคิดและการปฏิบัติตัวของผันเป็นตัวอย่าง ดังตอนหนึ่งที่มณีสวรรค์กล่าวว่า "… ถ้าทุกคนนับถือจารีตนี้เหมือนกับผัน  ไม่ฟันต้นไม้ไปทั่ว  นับถือและรู้คุณของป่า  ป่าไม้คงจะสนองประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างไม่มีวันสิ้นสุด"  และสาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนเน้นและให้ความสำคัญไปที่การอนุรักษ์ป่าไม้นั้น  อาจเนื่องมาจากกระแสการพัฒนาประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีความต้องการพื้นที่ในการพัฒนา จึงมีการตัดป่ากันมากขึ้น  ผู้เขียนจึงได้พยายามที่จะสร้างและกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ขึ้นในหมู่นักอ่าน  โดยเฉพาะนักอ่านรุ่นหนุ่มสาวที่เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้ตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น
          อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ผู้เขียนให้ความสำคัญกับตัวละครผู้หญิงอย่างมาก จะเห็นได้ว่าตัวละครหญิงที่มีบทบาทเด่นในเรื่องทุกตัวนับเป็นบุคคลที่มีหน้ามีตาและเป็นที่นับถือของสังคม ไม่ว่าจะเป็นป้าพอนเป็นกรรมการสหพันธ์แม่หญิงของหมู่บ้านที่อาวุโสที่สุด  มณีสวรรค์และแสงอำไพ ก็เป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนของต่างชาติ  ซึ่งการสร้างตัวละครเช่นนี้ของ "ดอกเกด" แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนเห็นว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาก็นับเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ทำหน้าที่พัฒนาประเทศได้  และพวกเธอเหล่านั้นก็ทำงานได้เป็นอย่างดีเท่าเทียมกับผู้ชายเช่นกัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเพราะความช่วยเหลือของมณีสวรรค์และแสงอำไพ จึงทำให้ผันสามารถแก้ปัญหากับบริษัทที่ได้สัมปทานป่าไม้ และสามารถนำไม้มาปลูกสร้างโรงเรียนได้ในที่สุด  นอกจากนี้  ผู้เขียนยังสร้างให้เธอทั้งสองคนเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตให้กับหญิงสาวรุ่นใหม่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จันทร์เพ็ง หญิงสาวชาวหาดโพก็ได้เปลี่ยนความคิดของตนเมื่อเห็นการปฏิบัติตัวของมณีสวรรค์และแสงอำไพ ดังตอนหนึ่งที่จันทร์เพ็งประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าเธอจะไม่ไปทำหน้าที่มืออ่อน (คนรินเหล้า) ให้ในการประชุมว่า "…ฉันเป็นถึงหัวหน้าชาวหนุ่มแล้วนะพี่ทิด ไม่มีหน้าที่มืออ่อนมือแข็งให้ใครแล้ว หน้าที่ของฉันคือไปประชุมเหมือนกันเจ้าหน้าที่กลุ่มที่แล้ว  ที่มีพี่แก้วและพี่แสงมาด้วยนั้น ได้เป็นตัวอย่างอันดีของการมีความเสมอภาคระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายรุ่นใหม่ ซึ่งจันทร์เพ็งก็อยากจะทำตาม…" (หน้า 66)
ภาพธรรมชาติอันงดงามของหาดโพ  ภาพความรักและความผูกพันกับธรรมชาติของชาวบ้าน  และความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับอำนาจรัฐและอิทธิพลของนายทุนของผันและพวกพ้อง  ช่วยสะท้อนให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้และธรรมชาติที่กำลังจะถูกรุกรานด้วยอำนาจทุนที่มาพร้อมกับกระแสการพัฒนาประเทศ  อันนับเป็นแนวคิดประการสำคัญที่ "ดอกเกด" สื่อมายังผู้อ่านชาวลาว เพื่อกระตุ้นและสร้างสำนึกในเรื่องความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของประเทศว่า   หากทุกคนร่วมมือกันปกป้องและรักษาก็จะช่วยให้ธรรมชาติคงอยู่ได้  ซึ่งสารที่ "ดอกเกด" ส่งมานั้นมิได้สื่อความได้เฉพาะผู้อ่านในประเทศเท่านั้น   แต่สามารถจะส่งมาถึงผู้อ่านชาวไทยด้วยเช่นกัน  และภาพความงดงามดังกล่าวยังกระตุ้นให้ผู้อ่านชาวไทยบางคนหวนนึกถึงและโหยหาธรรมชาติอันสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย  แต่ปัจจุบันนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งไปแล้ว   ยิ่งไปกว่านั้น  นวนิยายเรื่องนี้ยังช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นและเข้าใจวิถีชีวิต  ความเชื่อ  แนวคิด และปัญหาที่เพื่อนบ้านของเราประสบมากขึ้น  แม้สังคมดังกล่าวจะเป็นเพียงสังคมเล็กๆ ของ "หาดโพ" ก็ตาม

-------------------- 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น