วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Book 2 : ลิลิตพายัพ

ลิลิตพายัพ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว


            ลิลิตพายัพ  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประพันธ์ร่วมกับข้าราชบริพารที่ตามเสด็จอีก 3 คน คือ  หม่อมเจ้าถูกถวิล  สุขสวัสดิ์   พระยาบำเรอรักษ์  และพระยาสุรินทราชานับเป็นหนังสือเล่มเล็กกว่าครึ่ง A4 ขนาด 134 หน้า  ราคาแสนถูกเพียง 14 บาท   ที่แต่งด้วยคำประพันธ์ลิลิต ที่ประกอบไปด้วยร่ายและโคลง   
ลิลิตพายัพ ในที่นี้ แท้ที่จริงก็คือการนำเสอนเรื่องราวมณฑลพายัพของรัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช  เมื่อกล่าวแต่เพียงคำว่า มณฑลพายัพ หลายคนอาจจะไม่รู้จัก  แต่ถ้าบอกว่ามณฑลพายัพก็คือภาคเหนือตอนบน   ทุกคนก็อาจจะร้องอ๋อ  แต่คงมีอีกหลายคงยังสงสัยต่อไปเหตุใดภาพเหนือตอนบนถึงเป็นมณฑลพายัพไปได้   หากลองย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยก็จะพบว่า   ดินแดนของมณฑลพายัพแท้ที่จริงก็คือ ประเทศราชล้านนา ที่สยามเริ่มเข้าแทรกแซงทางการเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2417  แต่ปล่อยให้ปกครองตนเองเป็นอิสระในฐานะประเทศราชเรื่อยมา  ซึ่งการปกครองในช่วงต้นเป็นไปอย่างหละหลวม เพราะอาณาจักรล้านนามีพันธะผูกพันกับสยามเพียงแค่ ถวายเครื่องราชบรรณาการตามกำหนด  ส่งกำลังทัพช่วยเหลือในราชการสงครามยามจำเป็น และ ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาตามกำหนด  ต่อมาเมื่อจักรวรรดินิยมชาติตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษเริ่มขยายอำนาจเข้ามาครอบคลุมภูมิภาคนี้  สยามจึงมีการปรับตัว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองที่มีรูปแบบการปกครองที่ทันสมัยขึ้น คือ  เทศาภิบาล  ซึ่งเทศาภิบาลนับเป็นการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหาราชการออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาค ซึ่งแบ่งเขตการปกครองให้ลดหลั่นกันดังนี้ มณฑล  เมือง (จังหวัด) อำเภอ  ตำบล และหมู่บ้าน 
เมื่อทราบว่าเขียนด้วยร่ายและโคลงอาจทำให้คนหลายคนถอดใจและไม่หยิบขึ้นมาอ่าน  เพราะขยายกลัวกับการเขียนในรูปแบบร้อยกรองเช่นนี้   ประกอบกับเป็นรื่องราวการเสด็จประพาสในครั้งนี้   หลายคนก็อาจจะคาดไปล่วงหน้าว่าเรื่องราวที่ปรากฏนั้นจะเป็นเรื่องหนัก เป็นทางการ และอ่านยาก  แต่ในความเป็นจริง หนังสือเล่มนี้แสนจะสนุกสนาน  และน่าติดตามยิ่ง  เพราะเหมือนกับว่าเราได้นั่งเครื่องย้อนเวลากลับไปในอดีตกว่าร้อยปีที่ผ่านมา  แม้ว่าเรื่องราวที่นำเสนอเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวการเสด็จประพาสมณฑลพายัพของพระองค์ท่าน ในระหว่างเดือนตุลาคม  พ.ศ. 2448  ถึงเดือนมกราคม 2449 
แต่ด้วยความที่บทประพันธ์เรื่องนี้แต่งในทำนองนิราศ  ที่เน้นเรื่องราวการเดินทางไปพร้อมๆ กับการพร่ำรำพันคิดถึงนางอันเป็นที่รักของผู้แต่ง  ท่วงทำนองดังกล่าวช่วยลดความขึงขังและเป็นทางการของเรื่องราวได้เป็นอย่างดี   ขณะเดียวกันก็สร้างความรู้สึกร่วมของผู้อ่านต่อประสบการณ์ที่นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ  เพราะโดยตลอดเรื่องผู้อ่านเฝ้าเอาใจช่วยและรู้สึกสงสารผู้แต่งที่ต้องระทมทุกข์เฝ้าคิดถึงนางอันเป็นที่รักและลูกอ่อนที่ทิ้งอยู่ในพระนคร  ในขณะที่ตนเองต้องตามเสด็จมาในครั้งนี้  เนื่องจากไม่สามารถขัดพระบรมราชโองการได้
ตลอดการเดินทางผู้แต่งถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางที่เป็นไปอย่างยากลำบาก  เนื่องจากในสมัยนั้นทางรถไฟสายเหนือยังสร้างไม่เสร็จ  จึงทำให้ได้เห็นเส้นทางเดินทางสายเก่าที่เวลาจะเดินทางทั้งจากกรุงเทพฯไปยังภาคเหนือ  หรือเดินทางจากภาคเหนือกลับกรุงเทพฯต้องนั่งเรือและแพร่องตามแม่น้ำลงมา  และตลอดเส้นทางในการล่องเรือเต็มไปด้วยเกาะแก่ง และกระแสน้ำอันเชี่ยวกราด  การเดินทางบางช่วงก็เป็นชายหาดตื้นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเดินทางล่าช้าลง   ขณะเดียวกันการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆของภาคเหนือสมัยนั้นยังไม่มีถนนเหมือนในสมัยนี้   จึงจำเป็นต้องอาศัยช้าง ม้า หรือเดินทางเท้าในบางช่วง  เพราะเส้นทางเต็มไปด้วยป่าไม้  แม่น้ำ และภูเขาสลับที่ราบโดยตลอด
ความสามารถของผู้แต่งอีกประการหนึ่ง คือการนำเสนอสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นไว้อย่างละเอียดและมีชีวิตชีวา  ผู้แต่งสเนอให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าดินแดนภาคเหนือเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง  เพราะมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆอาศัศัยปะปนกันอยู่มาตั้งแต่อดีต  ไม่ว่าจะเป็นคนเมือง ชาวสยาม ชาวจีน  ชาวตะวันตกชาติต่างๆ และชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น มูเซอ  กระเหรี่ยง  เงี้ยว ตองสู่ และ อาข่า เป็นต้น  ทั้งยังนำเสนอภาพประเพณีต่างๆ ของชาวเหนือ อาทิ การทำบายศรี  พิธีเรียกพระขวัญ และ การฟ้อนและการแสดงรับเสด็จต่างๆ
 นอกจากนี้  หนังสือเล่มนี้ยังสอดแทรกตำนานพื้นเมืองของสถานที่ๆ เดินทางผ่านไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นตำนานพระธาตุช่อแฮ  จังหวัดแพร่  ตำนานหลักเมือง หรือ ตำนานเสาอินทขีล  จังหวัดเชียงใหม่   ตำนานพระพุทธสิหิงค์  จังหวัดเชียงใหม่   ตำนานพระเจ้าตนหลวง  จังหวัดพะเยา  ประวัติวัดพระยาแมน จังหวัดอุตรดิตถ์  ประวัติเมืองเก่าในกำแพงเพ็ชร์   และประวัติบ้านเกาะหูกวาง อำเภอสถิต นครสวรรค์ 
ด้วยเหตนี้  อาจกล่าวได้ว่าบทประพันธ์เรื่องนี้นับเป็นหนังสือท่องเที่ยวในอีกรูปแบบหนึ่ง  ที่สะท้อนภาพที่เป็นจริงเมืองไทย และภาคเหนือในอดีตในสมัยรัชกาลที่ 5  ได้อย่างมีมีชืวิตชีวาเล่มหนึ่ง  หากผู้อ่านท่านใดที่ประสงค์อยากรู้จักประเทศไทยในอดีตให้มากขึ้น  ก็ไม่ควรพลาดที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้

--------------------------------------

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Book 1 : อาถรรพ์แห่งพงไพร


รู้จัก "อาถรรพ์แห่งพงไพร" หนึ่งในวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ของลาว

          วรรณกรรมแปลของนักเขียนสตรีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ "อาถรรพ์แห่งพงไพร" ผลงานของ "ดอกเกด" ซึ่งเป็นนามปากกาของนักเขียนเลื่องชื่อนาม ดวงเดือน  บุนยาวง ชื่อของนักเขียนท่านนี้อาจยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากนักสำหรับนักอ่านชาวไทย  แต่เธอเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในหมู่นักอ่านชาวลาว  นอกจากนี้ นวนิยายเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2549 ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย  นวนิยายเรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทยโดย ศรีสุดา  ชมพันธุ์
          "อาถรรพ์แห่งพงไพร" ไม่เพียงแต่นำเสนอเรื่องราวความรักระหว่าง ผัน ครูหนุ่มที่ละทิ้งชีวิตในเมืองสะวัน-นะเขตไปทำงานเป็นครูสอนเด็กชั้นประถมที่หมู่บ้านในหาดโพชนบทอันห่างไกล แม้เหตุผลเริ่มแรกจะป็นเพียงแค่อกหักและต้องการจะหลบหนีจากวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเดิมๆเพื่อให้ลืมคนรัก คือมณีสวรรค์ เท่านั้น แต่เมื่อใช้ชีวิตในชนบทเป็นเวลานานกว่า 2 ปี ก็ทำให้เขาเปลี่ยนความรู้สึกจนกลายเป็นความรักและผูกพันกับที่อยู่และชาวบ้านที่นั้นอย่างมาก จนกลายเป็นอุดมการณ์ที่ทำให้ผันลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเด็กนักเรียนของเขา  โดยผันยอมทำทุกอย่างเพื่อที่จะสร้างโรงเรียนหลังใหม่แทนโรงเรียนหลังเดิมที่ผุผังจนเขาถูกจับติดคุกก็ตาม ขณะเดียวกันโรงเรียนหลังใหม่นี้ก็ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ชักนำให้ผันและมณีสวรรค์ได้มาพบและปรับความเข้าใจกันในที่สุด
          ความงดงามของธรรมชาตินับเป็นฉากที่ผู้เขียนให้ความสำคัญ เพราะโดยตลอดทั้งเรื่องผู้เขี่ยนที่สร้างฉากบรรยายธรรมชาติไว้ในหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นภาพความงดงามและความสงบของฝั่งแม่น้ำที่หาดโพ  ที่ว่า "… ทิวทัศน์สองฝั่งเขียวชื่นตา สลับซับซ้อน มีชีวิตชีวา หมู่บ้านบนฝั่งมีต้นมะพร้าวต้นหมากขึ้นสลอนเหนือหลังคาบ้านเรือนที่ปลูกเรียงกันห่างๆริมฝั่งแม่น้ำกระแสน้ำสีเขียนใสลดลงจนเห็นก้อนหินสีขาว สีแดง สีดำนอนเงียบสงบอยู่บนพื้นน้ำ" (หน้า 14)  นอกจากฉากธรรมชาติแล้ว  ผู้เขียนยังชี้ให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของป่าไม้  และความรู้สึกหวงแหนที่ป่าต้องถูกตัดโค่น  รวมไปถึงความคิดเชิงอนุรักษ์ป่าที่ผู้เขียนแฝงไว้ในคำพูด การกระทำ และความคิดของผัน โดยเฉพาะฉากที่ผันเกิดความรู้สึกหวงแหนและโกรธแค้นที่ไม้กฤษณาถูกโค่น เช่น "…ดูเหมือนป่าดงพงไพรร่ายเวทมนต์คาถาสร้างเสน่ห์ให้ผันหวงแหนหลงใหลมันยิ่งขึ้น ชายหนุ่มรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นที่เห็นซากไม้กฤษณาลำขนาดแขนขาถูกฟันล้มเป็นแถว น้ำตาของลูกผู้ชายคลอเบ้า ขณะที่ต้นไม้กำลังจะล้ม เขารู้สึกว่าหัวใจของตัวเองบีบแน่นคล้ายขาดอากาศหายใจ…" (หน้า 90-91) อีกทั้งผู้เขียนยังเสนอวิถีทางในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยไว้ในเรื่องนี้  โดยพยายามชี้ให้เห็นคุณค่าของป่า โดยอาศัยแนวคิดและการปฏิบัติตัวของผันเป็นตัวอย่าง ดังตอนหนึ่งที่มณีสวรรค์กล่าวว่า "… ถ้าทุกคนนับถือจารีตนี้เหมือนกับผัน  ไม่ฟันต้นไม้ไปทั่ว  นับถือและรู้คุณของป่า  ป่าไม้คงจะสนองประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างไม่มีวันสิ้นสุด"  และสาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนเน้นและให้ความสำคัญไปที่การอนุรักษ์ป่าไม้นั้น  อาจเนื่องมาจากกระแสการพัฒนาประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีความต้องการพื้นที่ในการพัฒนา จึงมีการตัดป่ากันมากขึ้น  ผู้เขียนจึงได้พยายามที่จะสร้างและกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ขึ้นในหมู่นักอ่าน  โดยเฉพาะนักอ่านรุ่นหนุ่มสาวที่เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้ตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น
          อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ผู้เขียนให้ความสำคัญกับตัวละครผู้หญิงอย่างมาก จะเห็นได้ว่าตัวละครหญิงที่มีบทบาทเด่นในเรื่องทุกตัวนับเป็นบุคคลที่มีหน้ามีตาและเป็นที่นับถือของสังคม ไม่ว่าจะเป็นป้าพอนเป็นกรรมการสหพันธ์แม่หญิงของหมู่บ้านที่อาวุโสที่สุด  มณีสวรรค์และแสงอำไพ ก็เป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนของต่างชาติ  ซึ่งการสร้างตัวละครเช่นนี้ของ "ดอกเกด" แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนเห็นว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาก็นับเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ทำหน้าที่พัฒนาประเทศได้  และพวกเธอเหล่านั้นก็ทำงานได้เป็นอย่างดีเท่าเทียมกับผู้ชายเช่นกัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเพราะความช่วยเหลือของมณีสวรรค์และแสงอำไพ จึงทำให้ผันสามารถแก้ปัญหากับบริษัทที่ได้สัมปทานป่าไม้ และสามารถนำไม้มาปลูกสร้างโรงเรียนได้ในที่สุด  นอกจากนี้  ผู้เขียนยังสร้างให้เธอทั้งสองคนเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตให้กับหญิงสาวรุ่นใหม่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จันทร์เพ็ง หญิงสาวชาวหาดโพก็ได้เปลี่ยนความคิดของตนเมื่อเห็นการปฏิบัติตัวของมณีสวรรค์และแสงอำไพ ดังตอนหนึ่งที่จันทร์เพ็งประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าเธอจะไม่ไปทำหน้าที่มืออ่อน (คนรินเหล้า) ให้ในการประชุมว่า "…ฉันเป็นถึงหัวหน้าชาวหนุ่มแล้วนะพี่ทิด ไม่มีหน้าที่มืออ่อนมือแข็งให้ใครแล้ว หน้าที่ของฉันคือไปประชุมเหมือนกันเจ้าหน้าที่กลุ่มที่แล้ว  ที่มีพี่แก้วและพี่แสงมาด้วยนั้น ได้เป็นตัวอย่างอันดีของการมีความเสมอภาคระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายรุ่นใหม่ ซึ่งจันทร์เพ็งก็อยากจะทำตาม…" (หน้า 66)
ภาพธรรมชาติอันงดงามของหาดโพ  ภาพความรักและความผูกพันกับธรรมชาติของชาวบ้าน  และความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับอำนาจรัฐและอิทธิพลของนายทุนของผันและพวกพ้อง  ช่วยสะท้อนให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้และธรรมชาติที่กำลังจะถูกรุกรานด้วยอำนาจทุนที่มาพร้อมกับกระแสการพัฒนาประเทศ  อันนับเป็นแนวคิดประการสำคัญที่ "ดอกเกด" สื่อมายังผู้อ่านชาวลาว เพื่อกระตุ้นและสร้างสำนึกในเรื่องความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของประเทศว่า   หากทุกคนร่วมมือกันปกป้องและรักษาก็จะช่วยให้ธรรมชาติคงอยู่ได้  ซึ่งสารที่ "ดอกเกด" ส่งมานั้นมิได้สื่อความได้เฉพาะผู้อ่านในประเทศเท่านั้น   แต่สามารถจะส่งมาถึงผู้อ่านชาวไทยด้วยเช่นกัน  และภาพความงดงามดังกล่าวยังกระตุ้นให้ผู้อ่านชาวไทยบางคนหวนนึกถึงและโหยหาธรรมชาติอันสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย  แต่ปัจจุบันนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งไปแล้ว   ยิ่งไปกว่านั้น  นวนิยายเรื่องนี้ยังช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นและเข้าใจวิถีชีวิต  ความเชื่อ  แนวคิด และปัญหาที่เพื่อนบ้านของเราประสบมากขึ้น  แม้สังคมดังกล่าวจะเป็นเพียงสังคมเล็กๆ ของ "หาดโพ" ก็ตาม

-------------------- 

Welcome to Bookshelf's Blog

บล็อคนี้สร้างขึ้นมาเพื่อบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับหนังสือที่ค่อยๆ อ่านและสะสมขึ้นในชั้นหนังสือส่วนตัวที่ละเล็กที่ละน้อย  ชณะเดียวกันก็อยากจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์การอ่านหนังสือร่วมกับผู้ที่ชื่นชอบและรักการอ่านทุกคน

ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่ชั้นหนังสือส่วนตัว ที่สามารถร่วมหยิบยืม แบ่งปัน และส่งต่อประสบการณ์การอ่านร่วมกันอย่างเสรี